วันเสาร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

โรงไฟฟ้าน้ำพอง




โรงไฟฟ้าน้ำพอง เนื่องจากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในระยะหลายปีที่ผ่านมาทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงต้องสร้างแหล่งผลิตไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย และเพื่อเสริมความมั่นคงในระบบไฟฟ้าให้กับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กฟผ.จึงได้กำหนด แผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมน้ำพองขึ้น โดยใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า นับเป็นการสนองตอบนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากร พลังงานภายในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ความเป็นมา

การสำรวจหาปิโตรเลียมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2522 โดยบริษัท เอสโซ่ เอ็กซพลอเรชั่น แอนด์ โปรดักชั่น โคราช อินคอร์ปอเรชั่น ESSO Explorationand Production Khorat Incorporation) เป็นผู้ได้รับสัมปทานการสำรวจขุดเจาะ ปรากฏว่าได้พบก๊าซธรรมชาติ ปริมาณสำรองประมาณ 1.5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้ประมาณวันละ 65 ล้านลูกบาศก์ฟุต เป็นเวลาติดต่อกันไม่ต่ำกว่า 15 ปี กฟผ. จึงได้ทำการศึกษาเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าโดยใช้ก๊าซธรรมชาติ จากแหล่งดังกล่าวเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า
หลังจากศึกษาความเหมาะสมและทบทวนอีกหลายครั้ง กฟผ. จึงเสนอโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมน้ำพอง ชุดที่ 1 แก่รัฐบาล โดยได้รับอนุมัติเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2532 และเริ่มงานก่อสร้างในเดือนพฤษภาคม 2532 ส่วนชุดที่ 2 ได้รับอนุมัติเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2534 และเริ่มงานก่อสร้างในเดือนมกราคม 2534 ปัจจุบันโครงการได้แล้วเสร็จสมบูรณ์ สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว




วัตถุประสงค์

เพิ่มแหล่งผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้มั่นคงยิ่งขึ้น ทำให้สามารถขยายไฟฟ้าไปสู่ชนบทห่างไกลได้อย่างกว้างขวาง ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติภายในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด กล่าวคือ โรงไฟฟ้าน้ำพอง จำนวน 2 ชุด สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติได้ปีละ 4,660 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง หากเป็นโรงไฟฟ้ากำลังผลิตเท่ากัน และใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงประมาณว่าจะต้องใช้น้ำมันถึงปีละ 1,200 ล้านลิตร เป็นการสงวนเงินตราต่างประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย
ลดการส่งถ่ายพลังไฟฟ้าจากภาคเหนือและภาคกลางไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือลงได้มาก ซึ่งทำให้การสูญเสียพลังไฟฟ้าในระบบส่งน้อยลงด้วย เป็นการกระจายงานสู่ ท้องถิ่น เพิ่มรายได้ให้แก่ประชากร โดยการจ้างผู้รับเหมาท้องถิ่นให้ดำเนินการ ก่อสร้างอาคารโรงไฟฟ้าและอาคารประกอบต่างๆ



ที่ตั้ง

โรงไฟฟ้าน้ำพอง มีพื้นที่ 631ไร่ ตั้งอยู่ที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ห่างจากตัวเมืองขอนแก่นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 32 กิโลเมตร และห่างจากแหล่งก๊าซธรรมชาติหลุมน้ำพองประมาณ 3 กิโลเมตร


การดำเนินงาน

โรงไฟฟ้าน้ำพองได้เริ่มดำเนินการก่อสร้าง ในเดือนมิถุนายน 2532 ก่อสร้างแล้วเสร็จ สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ดังรายละเอียดต่อไปนี้

ชุดที่ 1
กังหันแก๊สเครื่องที่ 1 : 26 พฤศจิกายน 2533
กังหันแก๊สเครื่องที่ 2 : 26 ธันวาคม 2533
กังหันไอน้ำ : 29 สิงหาคม 2535

ชุดที่ 2
กังหันแก๊สเครื่องที่ 1 : 15 มีนาคม 2536
กังหันแก๊สเครื่องที่ 2 : 11 เมษายน 2536
กังหันไอน้ำ : 9 เมษายน 2537

เพื่อให้การจ่ายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าน้ำพองชุดที่ 1 เป็นต้นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กฟผ.ได้ดำเนินการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า แรงสูงขนาด 115 กิโลโวลต์ น้ำพอง 2 - น้ำพอง 1 เป็นระยะทาง 6 กิโลเมตรและสายส่งไฟฟ้าแรงสูงขนาด 230 กิโลโวลต์ น้ำพอง 2 - ขอนแก่น 3 ระยะทาง 29.32 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังได้ก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูงขึ้นอีก 1 แห่ง คือ สถานีไฟฟ้าแรงสูงขอนแก่น 3 ขนาด 230 กิโลโวลต์ ทำการขยายสถานีไฟฟ้าแรงสูงน้ำพอง 1 ขนาด 115 กิโลโวลต์ เป็น 230 กิโลโวลต์ ขยายลานไกไฟฟ้าแรงสูงน้ำพอง 1 รวมทั้งเปลี่ยนสายส่งไฟฟ้าน้ำพุง 1 - อุดรธานี 1 จากขนาด 115 กิโลโวลต์ เป็น 230 กิโลโวลต์

สำหรับโรงไฟฟ้าชุดที่ 2 ก็ได้มีการดำเนินการ ก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูงขนาด 230 กิโลโวลต์ ชัยภูมิ-นครราชสีมา 2 ระยะทาง 101.5 กิโลเมตร สถานีไฟฟ้าแรงสูงขนาด 230 กิโลโวลต์ 2 แห่ง คือ สถานีไฟฟ้าแรงสูงนครราชสีมา 2 และชัยภูมิ รวมทั้งงานขยายลานไกไฟฟ้าของสถานีไฟฟ้าแรงสูงน้ำพอง 2 ขนาด 230 กิโลโวลต์อีกด้วย


ลักษณะโครงการ

โรงไฟฟ้าน้ำพองประกอบด้วยหน่วยผลิตไฟฟ้าสองชุด กำลังผลิตชุดละ 355,000 กิโลวัตต์ แต่ละชุดมีหน่วยผลิตไฟฟ้ากังหันแก๊ส กำลังผลิต 121,000 กิโลวัตต์ สองเครื่อง และหน่วยผลิตไฟฟ้ากังหันไอน้ำกำลังผลิต 113,000 กิโลวัตต์ หนึ่งเครื่อง รวมกำลังผลิตทั้งสิ้น 710,000 กิโลวัตต์
โรงไฟฟ้าน้ำพองทั้งสองชุดได้ออกแบบให้สามารถใช้เชื้อเพลิงได้ทั้งน้ำมันดีเซล และก๊าซธรรมชาติ โดยมอัตราการฟุ่มเฟือยของก๊าซธรรมชาติวันละ 65 ลูกบาศก์ฟุต
ในกรณีที่ต้องใช้น้ำมันดีเซลแทนน้ำมันธรรมชาติ ก็จะใช้น้ำมันดีเซลซึ่ง กฟผ. จัดเก็บไว้ที่ถังเชื้อเพลิงสำรอง เป็นเชื้อเพลิงในปริมาณวันละ 1.7 ล้านลิตร
น้ำที่ใช้ในโรงไฟฟ้าได้มาจากลำน้ำพอง บริเวณท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ โดยการสูญน้ำจากลำน้ำพองผ่านไปตามท่อฝังดินขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 60 เซนติเมตร ความยาว 4.85 กิโลเมตร ส่งไปยังอ่านเก็บน้ำในบริเวณโรงไฟฟ้า จากนั้นส่งไปยังโรงกรองน้ำ เพื่อปรับสภาพน้ำให้มีคุณภาพดีขึ้น ก่อนนำไปใช้
โรงไฟฟ้าน้ำพอง ใช้เพื่อการหล่อเย็นและเป็นน้ำใช้ทั่วๆ ไป รวมทั้งสิ้น 1,216 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง หรือวันละ 29,184 ลูกบาศก์เมตร หรือปีละ 10.652 ล้านลูกบาศก์เมตร


เงินลงทุน
งบประมาณค่าใช้จ่ายสำหรับโรงไฟฟ้าแห่งนี้ รวมทั้งสิ้น 14,947.55 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้

ชุดที่ 1
โรงไฟฟ้า 5,304.45 ล้านบาท
ระบบส่งไฟฟ้า 1,108.13 ล้านบาท
รวม 6,412.58 ล้านบาท

ชุดที่ 2
โรงไฟฟ้า 6,719.51 ล้านบาท
ระบบส่งไฟฟ้า 1,815.46 ล้านบาท
รวม 8,534.97 ล้านบาท

งานสิ่งแวดล้อม

กฟผ. ว่าจ้างบริษัททีนคอนซัลติ้ง เอ็นจิเนียร์ ( TEAN Consulting Engineers ) และบริษัทพาลคอนซัลแต้นท์ ( PAL Consultants ) ทำการศึกษาแลประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมขั้นรายละเอียดในประเด็นที่สำคัญ คือคุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำ การใช้น้ำและการใช้ที่ดิน ผลการศึกษาแจ้งว่า โรงไฟฟ้าน้ำพองจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก เนื่องจากสถานที่ตั้งอยู่ห่างไกลชุมชนและใช้ระบบระบายความร้อนด้วยหอระบายความร้อน
จากการจำลองแบบผลกระทบต่อคุณภาพอากาศในการติดตั้งและเดินเครื่องโรงไฟฟ้าทั้ง 2 ชุด ปรากฎว่า ปริมาณฝุ่นแขวนลอย ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไฟออกไซด์ และก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ที่เกิดจากโรงไฟฟ้า จัดอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่ามาตรฐานปกติของกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
สำหรับผลกระทบต่อคุณภาพน้ำโดยรอบบริเวณโรงไฟฟ้านั้น กฟผ. ได้ติดตั้งระบบกำจัดของเสียและน้ำเสียจากโรงไฟฟ้าเพื่อป้องกันผลเสียต่อแหล่งน้ำธรรมชาติ ทั้งนี้ กฟผ. จะดำเนินการตรวจสอบทั้งคุณภาพอากาศบริเวณโรงไฟฟ้าและตรวจวัดคุณภาพของน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นให้อยู่ในระดับต่ำสุด

สรุป

โรงไฟฟ้าน้ำพอง ปัจจุบันเป็นโรงไฟฟ้าลังงานความร้อนร่วมขนาดใหญ่ที่สุดของภาคตะวันออกเฉียเหนือช่วยเพิ่มพลังการผลิตในแก่ภูมิภาคนี้ได้อีกถึง 710,000 กิโลวัตต์ และสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ปีละ 4,660 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง นอกจากนี้ยังเป็นโรงไฟฟ้าแห่งเดียวของภูมิภาคนี้ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เป็นไปตามนโยบายเพิ่มแหล่งผลิตไฟฟ้าโดยใช้ทรัพยากรพลังงานที่มีอยู่ในประเทศ ซึ่งจากการวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ และการเงิน กล่าวได้ว่าโครงการนี้มีความเหมาะสมมากในการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าและเสริมความมั่นคงต่อระบบไฟฟ้าของประเทศไทย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น