วันพฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

โรงไฟฟ้าบางประกง



โรงไฟฟ้าบางปะกง เป็นโรงไฟฟ้าแห่งแรกของประเทศไทย ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย มาเป็นเชื้อเพลิง ในการผลิตไฟฟ้า เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติภายในประเทศ ให้เกิด ประโยชน์สูงสุดปัจจุบันโรงไฟฟ้าบางปะกงมีกำลังผลิตรวมทั้งสิ้น ๓,๖๘๐,๐๐๐ กิโลวัตต์ ถือเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้า ขนาดใหญ่และทันสมัยที่สุดในประเทศไทย ที่ตั้งโรงไฟฟ้าบางปะกง ตั้งอยู่บนเนื้อที่ ๑,๐๕๐ ไร่ บริเวณฝั่งซ้ายของแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา โดย อยู่ห่างจากปากแม่น้ำบางปะกงขึ้นมาตามลำน้ำประมาณ ๑๑ กิโลเมตร หรือห่างจากสะพานเทพหัสดินทร์ ไปทาง เหนือน้ำประมาณ ๒.๕ กิโลเมตร ลักษณะโครงการโรงไฟฟ้าบางปะกง ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังความร้อน จำนวน ๔ เครื่อง และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม จำนวน ๔ ชุด โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น ๒ ระยะ คือ


ระยะที่ ๑ เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี ๒๕๒๐ ประกอบด้วยงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจำนวน ๒ เครื่อง กำลังผลิคเครื่องละ ๕๕๐,๐๐๐ กิโลวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม จำนวน ๒ ชุด กำลังผลิตชุดละ ๓๗๐,๐๐๐ กิโลวัตต์ แต่ละชุดประกอบด้วยเครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันแก๊สขนาด ๖๐,๐๐๐ กิโลวัตต์ ๔ เครื่อง (สามารถ ใช้ได้ทั้งน้ำมันดีเซลและก๊าซธรรมชาติ) และเครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันไอน้ำขนาด ๑๓๐,๐๐๐ กิโลวัตต์ ๑ เครื่อง การก่อสร้างโรงไฟฟ้าบางปะกง ระยะที่ ๑ แล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๒๗ รวมกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้น ๑,๘๔๐,๐๐๐ กิโลวัตต์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธีเปิดโรงไฟฟ้าบางปะกง ระยะที่ ๑ เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๒๘



ระยะที่ ๒ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยใน พ.ศ.๒๕๓๐-๒๕๓๑ ได้ขยายตัวสูงมาก การใช้ไฟฟ้า เพิ่มขึ้นสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ กฟผ. จึงวางแผนเร่งพัฒนาแหล่งผลิตไฟฟ้า เพื่อสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าอย่าง เพียงพอและเพิ่มความมั่นคงแก่ระบบไฟฟ้าของประเทศ โครงการโรงไฟฟ้าบางปะกง ระยะที่ ๒ ได้รับอนุมัติจาก คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๓๑ และคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เห็นชอบ ให้ดำเนินการ เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๓๑ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าบางปะกงระยะที่ ๒ จึงได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ เดือนตุลาคม ๒๕๓๑ ประกอบด้วย

โรงไฟฟ้าพลังความร้อน เครื่องที่ ๓ และ ๔ กำลังผลิตเครื่องละ ๖๐๐,๐๐๐ กิโลวัตต์
โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ชุดที่ ๓ และ ๔ กำลังผลิตชุดละ ๓๒๐,๐๐๐ กิโลวัตต์ แต่ละชุดประกอบด้วย เครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันแก๊ส ขนาด ๑๐๕,๕๐๐ กิโลวัตต์ ๒ เครื่อง (สามารถใช้ได้ทั้งน้ำมันดีเซลและก๊าซธรรมชาติ) และเครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันไอน้ำ ขนาด ๑๐๙,๐๐๐ กิโลวัตต์ ๑ เครื่อง
โรงไฟฟ้าบางปะกง ระยะที่ ๒ แล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี ๒๕๓๕ รวมกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้น ๑,๘๔๐,๐กิโลวัตต์




ราคาก่อสร้าง

โรงไฟฟ้าบางปะกง ระยะที่ ๑ มีค่าก่อสร้างรวมทั้งสิ้น ๑๗,๑๙๘,๐๒๗ ล้านบาท เป็นราคาที่รวมค่าก่อสร้าง โรงปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน สายส่งไฟฟ้าแรงสูง ศูนย์ฝึกอบรมทางวิชาการ (อาคาร) และศูนย์ฝึกอบรมทางวิชาการ (Simulator) ส่วนโรงไฟฟ้าบางปะกง ระยะที่ ๒ มีค่าก่อสร้าง โรงไฟฟ้า และระบบส่งไฟฟ้า รวมทั้งสิ้น ๓๒,๓๓๓.๘๔ ล้านบาท



ประโยชน์
โรงไฟฟ้าบางปะกงมีกำลังผลิตไฟฟ้าสูงถึง ๓,๖๗๔,๖๐๐ กิโลวัตต์ จึงเป็นโรงไฟฟ้าหลักที่ช่วยเสริมความมั่นคง ให้ระบบไฟฟ้าส่วนรวมของประเทศ และการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ก็เป็นการสนับสนุนนโยบายใช้ทรัพยากร ภายในประเทศ สามารถประหยัดเงินซื้อน้ำมันจากต่างประเทศได้ปีละหลายล้านบาท
นอกจากนี้ยังช่วยสนับสนุนและรองรับความเจริญเติบโตของโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก ทำให้ ภาคเอกชนมีความมั่นใจในการลงทุนมากขึ้น



การเดินทาง
โรงไฟฟ้าบางปะกงอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ๖๙ กิโลเมตร ใช้เส้นทางรถยนต์จากกรุงเทพฯ ไปตามถนน บางนา-ตราด เมื่อถึงจังหวัดฉะเชิงเทรา ข้ามสะพานเทพหัสดินทร์ไปอีกประมาณ ๑ กิโลเมตร จะเห็นป้ายชื่อ โรงไฟฟ้าบางปะกง แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกประมาณ ๒.๕ กิโลเมตร ก็จะถึงโรงไฟฟ้า

สรุป
โรงไฟฟ้าบางปะกง เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้า ที่ทันสมัยมีประสิทธิภาพสูง ทัดเทียมกับโรงไฟฟ้าที่ทันสมัยอื่นๆ ในโลกเป็นผลงานที่คนไทยควรภาคภูมิใจ และโรงไฟฟ้าแห่งนี้ จะเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าที่สำคัญอำนวยประโยชน์ มหาศาลต่อประเทศชาติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น